วิวัฒนาการแห่งความสำเร็จของยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก

ในการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสร คงไม่มีรายการแข่งขันใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่า “ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก” ทัวร์นาเมนต์ที่สโมสรทั่วยุโรปต้องการคว้าแชมป์มาครอบครอง เพราะนอกจากแชมป์รายการนี้จะได้รับเงินรางวัลจำนวนมหาศาลแล้ว สโมสรที่เป็นแชมป์ยังได้ชื่อว่าเป็นเบอร์หนึ่งของยุโรปอีกด้วย โดยทุกปีจะมีทีมจากทุกประเทศทั่วยุโรปเข้าร่วมชิงชัยเพื่อค้นหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งก่อนจะเป็นลีกที่ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ ทางสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า ได้ทำการปรับปรุงรูปแบบการแข่งขันหลายต่อหลายครั้ง จนกลายเป็นศึกชิงแชมป์ที่ตื้นเต้นเร้าใจอย่างในปัจจุบัน

ศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก เดิมใช้ชื่อว่า ยูโรเปียน คัพ เป็นการแข่งขันฟุตบอลที่จัดขึ้นโดยนิตยสารฟุตบอลชั้นนำของประเทศฝรั่งเศสอย่าง “เลกิ๊ป” เริ่มจัดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1955 โดยเชิญสโมสรตัวแทนจาก 16 ประเทศชั้นนำ อาทิเช่น เรอัล มาดริด จากสเปน, เอซี มิลาน จากอิตาลี, ร็อต-ไวส์ เอสเซ่น จากเยอรมัน, สตาด แรนส์ จากฝรั่งเศส, พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น จากฮอลแลนด์ และสปอร์ตติ้ง จากโปรตุเกส เข้าร่วมการแข่งขันเหย้า-เยือนแบบประกบคู่แพ้คัดออก ซึ่งครั้งนั้นเชลซี จากอังกฤษ เป็นทีมเดียวที่ปฏิเสธเข้าร่วมการแข่งขัน อันเนื่องมาจากคำสั่งห้ามของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ผู้จัดจึงเชิญทีมจากโปแลนด์เข้าแข่งขันแทน และแชมป์สมัยแรกก็ตกเป็นของเรอัล มาดริด

หลังจากประสบความสำเร็จในครั้งแรก การแข่งขันจึงถูกจัดขึ้นอีกครั้งในซีซั่นต่อมา ซึ่งได้เพิ่มทีมเข้าร่วมการแข่งขันเป็นตัวแทนจาก 21 ประเทศ และเรอัล มาดริดแชมป์เก่า โดยครั้งนี้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษได้ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการแข่งขัน แม้จะถูกต่อต้านจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษก็ตาม ซึ่งในท้ายที่สุดเรอัล มาดริดก็ป้องกันแชมป์ได้สำเร็จ

ต่อมาฤดูกาล 1960-61 ในการแข่งขันครั้งที่ 6 สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า ได้กลายมาเป็นผู้จัดการแข่งขันหลักนับแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งได้เพิ่มทีมเข้าร่วมแข่งขันเป็นแชมป์ลีกจาก 27 ประเทศ กับเรอัล มาดริด แชมป์เก่าและแชมป์ 5 สมัยติดต่อกัน และยังคงการแข่งขันแบบน็อกเอาท์เอาไว้ โดยครั้งนี้เบนฟิกา จากโปรตุเกสเป็นทีมที่คว้าแชมป์ไปครอง

จนกระทั้งฤดูกาล 1992-93 ยูฟ่าได้ทำการเปลี่ยนชื่อการแข่งขันมาเป็น ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก และปฏิวัติการแข่งขันเสียใหม่ โดยเพิ่มรอบแบ่งกลุ่มเข้ามาหลังจากแข่งขันแบบแพ้คัดออกจนได้ 8 ทีมสุดท้าย ซึ่งทั้ง 4 ทีมในแต่ละกลุ่มจะแข่งขันแบบเหย้า-เยือนพบกันหมด ทีมชนะจะได้ 3 คะแนน, เสมอได้ 1 คะแนน ส่วนทีมแพ้ไม่ได้คะแนน แล้วนำทีมที่คะแนนมากที่สุดในแต่ละกลุ่มมาแข่งขันรอบชิงชนะเลิศกัน หลังจากนั้นในฤดูกาลถัดมา ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้มีชาติต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย จึงมีทีมแชมป์ลีกถึง 42 ประเทศเข้าร่วมแข่งขัน โดยมีการปรับการแข่งขันเล็กน้อย คือ หลังจัดอันดับในรอบแบ่งกลุ่มได้แล้ว จะนำทีมแชมป์กลุ่มไขว้มาเจอกับทีมอันดับ 2 ของอีกกลุ่ม แล้วนำ 2 ทีมที่ชนะเข้าไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศต่อไป

ต่อมาในซีซั่น 1994-95 ได้มีการปรับเปลี่ยนการแข่งขันครั้งใหญ่อีกครั้ง เริ่มจากลดจำนวนทีมให้เหลือแค่ทีมแชมป์เก่า กับทีมแชมป์จาก 23 ประเทศ โดยให้แชมป์เก่าและ 7 สโมสรจากลีกชั้นนำผ่านเข้าสู่รอบแบ่งกลุ่มอัตโนมัติ ส่วนทีมที่เหลือจะลงเตะรอบคัดเลือกจนได้ 16 ทีมสุดท้าย จากนั้นแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม แข่งขันพบกันหมดจัดอันดับหาแชมป์และรองแชมป์กลุ่มเข้าไปเล่นรอบน็อกเอาท์ต่อไป

ฤดูกาล 1997-98 ยูฟ่านำทีมแชมป์ลีกจาก 48 ประเทศกลับมามีส่วนร่วมในการแข่งขันอีกครั้ง โดยเพิ่มทีมรองแชมป์จาก 8 ลีกชั้นนำของยุโรปเข้ามาแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่มด้วย ก่อนที่อีก 2 ฤดูกาลต่อมา จะนำค่าสัมประสิทธิ์มาคำนวณเพื่อเพิ่มจำนวนทีมให้กับลีก Top 3 เป็น 4 ทีม, ทีมลีก Top 6 เป็น 3 ทีม และทีมลีก Top 15 เป็น 2 ทีม และจัดทีมในรอบแบ่งกลุ่มเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม จนถึงปัจจุบัน

การปรับปรุงรูปแบบการแข่งขันของยูฟ่าด้วยการเพิ่มทีมจากลีกชั้นนำให้มากขึ้น แทนที่จะเป็นทีมแชมป์ลีกเพียงทีมเดียว ส่งผลให้ศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก กลายเป็นลีกที่ครองใจแฟนบอลทั่วโลก แม้จะทำให้แต่ละทีมมีจำนวนการแข่งขันในแต่ละฤดูกาลเพิ่มขึ้น แต่ทุกสโมสรก็เต็มใจเพื่อโอกาสที่มากขึ้นในการเป็นแชมป์ยุโรป

“เออร์ลิง ฮาแลนด์” ศูนย์หน้าดาวรุ่งมหาประลัย

ในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก 2019-20 คงไม่มีนักเตะคนไหนโชว์ฟอร์มได้ร้อนแรงมากไปกว่า “เออร์ลิง ฮาแลนด์” อีกแล้ว เพราะนอกจากจะแจ้งเกิดได้ตั้งแต่นัดแรกที่ลงสนามด้วยการทำแฮตทริก ดาวยิงทีมชาตินอร์เวย์ยังเป็นเจ้าของสถิตินักเตะคนแรกในประวัติศาสตร์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ที่ยิงประตูติดต่อกันได้ใน 5 เกมแรก แถมยังมีลุ้นเป็นดาวซัลโวที่อายุน้อยที่สุดอีกด้วย

เมื่อฤดูกาลที่แล้ว เรดบลู ซัลซ์บวร์ก คว้าแชมป์ลีกของออสเตรียได้สำเร็จ ส่งผลให้ผ่านเข้าสู่ศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก รอบแบ่งกลุ่มโดยอัตโนมัติ แม้ฤดูกาลที่แล้ว เออร์ลิง ฮาแลนด์ ที่ย้ายมาช่วงกลางฤดูกาลจะไม่มีส่วนร่วมกับทีมแชมป์ออสเตรียมากนัก แต่เมื่อฤดูกาล 2019-20 เปิดฉากขึ้นเขาก็กลายมาเป็นกำลังหลักของทีมด้วยการยิงประตูในลีกติดต่อกัน 6 นัด ทำได้ 11 ประตูใน 7 เกมแรก ฮาแลนด์จึงถูกเลือกให้ประเดิมเกมยุโรปตั้งแต่นัดแรกกับเกงค์ ทีมแชมป์ลีกเบลเยี่ยม โดยเขาสามารถยิงแฮตทริกได้ทันทีภายในเวลาเพียง 45 นาที ก่อนที่จะยิงได้อย่างต่อเนื่องในอีก 4 นัดถัดมา รวมยิงไปทั้งสิ้น 8 ประตูจากการลงสนาม 5 นัดแรกในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก น่าเสียดายที่นัดสุดท้ายเขาไม่สามารถยิงประตูลิเวอร์พูลในบ้านตัวเองได้ ไม่เช่นนั้นก็จะทำสถิติยิงทุกนัดในรอบแบ่งกลุ่ม

แม้นักเตะซัลซ์บวร์กจะช่วยกันยิงถึง 16 ประตู แต่พวกเขาก็ไม่สามารถผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาท์ได้ หลังทำได้เพียง 7 แต้ม รั้งอังดับ 3 ของกลุ่ม และต้องไปเล่นในศึกยูโรป้าลีก แต่ด้วยฟอร์มการยิงประตูอย่างถล่มทะลาย โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ จึงดึงตัวฮาแลนด์ไปร่วมทีมด้วยสินสอด 20 ล้านยูโร ทำให้เส้นทางของเขาในศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกฤดูกาลนี้ยังคงดำเนินต่อไป

ศูนย์หน้าวัย 19 ปี ถูกส่งลงสนามนัดแรกให้กับทีมเสือเหลืองในศึกยุโรปทันที โดยพบกัน ปารีส แซงต์-แชร์กแมง ที่มีดาวรุ่งดีกรีแชมป์โลกอย่าง คีลิยัน เอ็มบั๊ปเป้ เป็นกำลังสำคัญ ถือเป็นการดวลกันของสองกองหน้าดาวรุ่งแห่งยุค ซึ่งทั้งคู่ก็สามารถทำประตูในนัดนี้ได้ แต่ดาวยิงนอร์เวย์ทำได้ดีกว่าด้วยการยิง 2 ประตูช่วยให้เจ้าบ้านเอาชนะยอดทีมจากฝรั่งเศสไปได้ด้วยสกอร์ 2-1

จากการยิงคนเดียว 2 ประตูในเกมนี้ ทำให้ฮาแลนด์กลายเป็นนักเตะดาวรุ่งอายุต่ำกว่า 20 ปี คนแรกที่ยิงได้ 10 ประตูในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกฤดูกาลเดียว แถมยังเป็นนักเตะที่ยิงได้ 10 ประตูเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์แชมเปียนส์ลีก ด้วยจำนวนการลงสนาม 7 นัด เหนือสถิติเดิมที่ อาเดรียโน่, ซาร์ดิโอ มาเน่ และโรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่ ทำไว้ที่ 11 นัด นอกจากนั้นยังเป็นนักเตะคนแรกที่ยิงประตูในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกให้กับ 2 สโมสรในฤดูกาลเดียวอีกด้วย โดย 10 ประตูที่ทำได้มาจากการยิงด้วยเท้าซ้าย 6 ประตู, ยิงด้วยเท้าขวา 3 ประตู และลูกโหม่ง 1 ประตู เรียกได้ว่าฮาแลนด์เป็นนักเตะที่ครบเครื่องในเรื่องการทำประตูจริง ๆ

ปัจจุบันฮาแลนด์รั้งตำแหน่งรองดาวซัลโวศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก โดยมีสกอร์ตามหลังโรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ศูนย์หน้าจอมเก๋าของบาร์เยิร์น มิวนิคเพียงประตูเดียว ซึ่งหากศูนย์หน้าเลือดไวกิ้งยังยิงประตูได้อย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแค่ตำแหน่งดาวซัลโวเท่านั้นที่เขามีสิทธิลุ้นถึง แม้แต่ถ้วยแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ที่ทีมเสือเหลืองรอคอยมากว่า 23 ปีก็อาจไม่ไกลเกินเอื้อม

“บิ๊กเอียร์” ถ้วยแชมป์แรงอาถรรพ์

ธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของการแข่งขันยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก นัดชิงชนะเลิศ คือการให้นักเตะทั้งสองทีมเดินผ่านถ้วยรางวัลลงสู่สนาม เพื่อให้นักเตะทุกคนได้รู้สึกว่าแชมป์อยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่สิ่งที่นักเตะทุกคนต้องระวังคือการไม่หลงเสน่ห์ไปกับมนต์สะกดอันย้ำยวนของถ้วยบิ๊กเอียร์ จนเผลอไปสัมผัสก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น เพราะในอดีตที่ผ่านมาหากนักเตะจากทีมใดเอื้อมมือไปจับถ้วยแชมป์ก่อนลงเตะ ทีมนั้นจะหมดโอกาศชูถ้วยแชมป์ในท้ายที่สุด

โมนาโก นัดชิงชนะเลิศปี 2004 ณ สนามอาเรนา เอาฟ์ชัลเคอ เมืองเกลเซนเคียร์เชิน ประเทศเยอรมนี

ศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก นัดชิงชนะเลิศ ฤดูกาล 2003-04 เป็นการโคจรมาพบกันของ 2 ม้ามืดแห่งปีระหว่าง เอฟซี ปอร์โต้ แชมป์ยูฟ่า คัพเมื่อฤดูกาลก่อน กับ โมนาโก รองแชมป์ลีกเอิงฝรั่งเศส โดยก่อนเริ่มเกมการแข่งขัน โมนาโก ภายใต้การนำทัพของดิดิเย่ร์ เดส์ชองส์ ถูกยกให้มีโอกาสคว้าแชมป์มากกว่าทีมจากโปรตุเกส เนื่องจากสามารถปราบทีมยักษ์ใหญ่ของยุโรปมาได้ทั้งเชลซี และเรอัล มาดริด แต่แล้วระหว่างลงสนามกัปตันทีมอย่าง ลูโดวิช ชูลี ได้ยื่นมือไปสัมผัสถ้วยบิ๊กเอียร์ ส่งผลให้ปีกทีมชาติฝรั่งเศสอยู่ในสนามได้เพียง 23 นาที ก่อนที่ปอร์โต้จะยิงรวดเดียว 3 ประตู สร้างประวัตศาสตร์เป็นแชมป์สมัยแรก และสร้างชื่อให้กับผู้จัดการทีมไฟแรงอย่างโชเซ่ มูรินโญ่

เอซี มิลาน นัดชิงชนะเลิศปี 2005 ณ สนามอตาเติร์ก กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี

หลังจาก เอซี มิลาน คว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก เหนือคู่แข่งร่วมลีกอย่างยูเวนตุส เมื่อ 2 ฤดูกาลก่อน ในฤดูกาล 2004-05 ยอดทีมจากอิตาลีก็ทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้อีกครั้ง โดยมียักษ์หลับจากอังกฤษอย่างลิเวอร์พูล เป็นคู่ต่อกร นัดนี้ทีมปีศาจแดง-ดำถูกยกให้เป็นทีมเต็งด้วยคุณภาพของนักเตะทั้งตัวจริงและตัวสำรอง แต่ก่อนที่เกมจะเปิดฉากขึ้น เจนาโร่ กัตตูโซ่ และริคาร์โด้ กาก้า ซูเปอร์สตาร์ของทีมเป็น 2 นักเตะที่เอื้อมไปจับถ้วยแชมป์ระหว่างเดินผ่าน ทำให้ทีมของพวกเขาที่ออกนำไปก่อนในครึ่งแรกถึง 3 ประตู กลับถูกตามตีเสมอได้สำเร็จในช่วงครึ่งหลัง ก่อนที่จะเป็นฝ่ายแพ้จุดโทษชี้ขาด กลายเป็นปาฏิหาริย์แห่งอิสตันบูลของทีมหงส์แดง

บาร์เยิร์น มิวนิค นัดชิงชนะเลิศปี 2012 ณ สนามอารีอันซ์ อารีน่า เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี

ในฤดูกาล 2011-12 บาร์เยิร์น มิวนิค กุมความได้เปรียบก่อนการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศเหนือคู่แข่งอย่าง เชลซี ด้วยการลงเล่นในสนามเหย้าของตัวเอง แต่แล้ว อนาโตลี ตีโมชุค เซ็นเตอร์แบ็กจำเป็นกลับทำลายความได้เปรียบนั้นด้วยการสัมผัสถ้วยรางวัลที่เต็มไปด้วยอาถรรพ์ในช่วงเดินลงสนาม แม้ทีมเสือใต้จะยิงประตูขึ้นนำในช่วงท้ายครึ่งหลัง แต่ก็ถูกทีมสิงโตน้ำเงินครามตามตีเสมออย่างรวดเร็ว จนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในการดวลจุดโทษตัดสิน ทั้งที่พวกเขามีโอกาสชนะจากการยิงเข้าไปก่อนของ 3 คนแรก แต่กลับมาพลาดจากการยิงของ 2 คนสุดท้าย ในขณะที่เชลซียิงพลาดเพียงคนแรกคนเดียว

7 เรื่องที่สุดของนักเตะประจำศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก

นับตั้งแต่เปลี่ยนชื่อจาก ยูโรเปียนคัพ มาเป็น ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก จนถึงทุกวันนี้ ศึกชิงแชมป์สโมสรยุโรปจัดการแข่งขันในระบบลีกมาแล้วทั้งสิ้น 28 ครั้ง สังเวียนฟาดแข้งแห่งนี้ได้มีโอกาสต้อนรับนักเตะระดับโลกมากหน้าหลายตาเป็นประจำทุกซีซั่น โดยนักเตะเหล่านั้นได้ก่อให้เกิดสถิติต่าง ๆ มากมาย ซึ่งนี่คือ 7 เรื่องที่สุดที่เกิดขึ้นในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก

1. นักเตะที่คว้าแชมป์มากที่สุด

คริสเตียโน่ โรนัลโด้ คือนักเตะที่คว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกได้มากที่สุด ด้วยจำนวน 5 ครั้ง และยังเป็นนักเตะคนแรกที่คว้าแชมป์ได้กับ 2 สโมสร โดยแชมป์สมัยแรกเกิดขึ้นในปี 2008 สมัยค้าแข้งอยู่กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ส่วนอีก 4 ครั้งเกิดขึ้นในฐานะนักเตะของเรอัล มาดริด เมื่อปี 2014, 2016, 2017 และ 2018

2. นักเตะที่ลงสนามมากที่สุด

177 นัด คือสถิติจำนวนการลงสนามมากที่สุดในแชมเปียนส์ลีกของ อิเกร์ กาซิยาส ผู้รักษาประตูทีมชาติสเปน โดยเป็นการลงเล่นให้กับเรอัล มาดริด 150 นัด และปอร์โต้อีก 27 นัด ก่อนที่จะประกาศแขวนถุงมือเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2020 จากตลอด 20 ฤดูกาลมือกาวแดนกระทิงเก็บคลีนไปได้ทั้งสิ้น 59 ครั้ง และคว้าแชมป์ร่วมกับทีมราชันชุดขาวได้ 3 สมัย ในปี 2000, 2002 และ 2014

3. นักเตะที่ลงสนามด้วยอายุน้อยที่สุด

เซเลสติน บาบายาโร่ เป็นนักเตะอายุน้อยที่สุดที่ได้สัมผัสเกมแชมเปียนส์ลีก ด้วยอายุเพียง 16 ปี กับอีก 86 วัน สมัยที่กองหลังไนจีเรียเพิ่งเริ่มต้นเส้นทางอาชีพกับทีมอันเดอร์เลชท์ โดยลงสนามพบกับสเตอัว บูคาเรสต์ เมื่อปี 1994 ก่อนจะย้ายไปร่วมทีมเชลซี ทำให้ได้ลงเล่นในเวทียุโรปอีก 2 ฤดูกาล รวมแล้วลงเล่นในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกทั้งสิ้น 16 นัด ยิงได้ 1 ประตู

4. นักเตะที่ลงสนามด้วยอายุมากที่สุด

มาร์โก บัลล็อตตา ลงเล่นให้กับลาซิโอในศึกแชมเปียนส์ลีกทั้งสิ้นจำนวน 10 นัด โดยนัดสุดท้ายของเขาในเวทียุโรปเกิดขึ้นเมื่อปี 2007 ซึ่งเป็นเกมที่ทีมอินทรีย์ฟ้าขาวบุกไปพ่ายให้กับเรอัล มาดริด 3-1 ขณะนั้นผู้รักษาประตูชาวอิตาลีมีอายุ 46 ปี 8 เดือน 8 วัน ทำให้เขาเป็นนักเตะอายุมากที่สุดของยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก

5. นักเตะที่ยิงประตูรวมได้มากที่สุด

นับตั้งแต่ยิงประตูประตูแรกของตัวเองในเวทียุโรปเมื่อฤดูกาล 2007-08 ในเกมที่ปีศาจแดงถล่มหมาป่ากรุงโรม 7-1 หลังจากนั้น คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ก็ยิงประตูต่อเนื่องมาถึง 14 ซีซั่น โดยก่อนลงเล่นรอบ 16 ทีมสุดท้ายของฤดูกาล 2019-20 ซูเปอร์สตาร์ชาวโปรตุเกสยิงประตูรวมกันไปทั้งสิ้น 128 ประตู จากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 15 ประตู, เรอัล มาดริด 105 ประตู และยูเวนตุส 8 ประตู เหนือกว่านักเตะทุกคน นอกจากนั้นเขายังครองตำแหน่งดาวซัลโวได้ถึง 7 ฤดูกาล

6. นักเตะที่ยิงประตูในนัดเดียวมากที่สุด

เมื่อปี 2012 ในการแข่งขันรอบ 16 ทีมสุดท้าย นัดที่สอง ลิโอเนล เมสซี่ ส่งบอลสู่ก้นตาข่ายของ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ไปถึง 5 ครั้ง ช่วยให้บาซ่าชนะไปอย่างท่วมท้น 7-1 กลายเป็นนักเตะคนแรกที่ยิงได้ 5 ประตูในเกมเดียว ก่อนที่ในปี 2014 หลุยส์ อาเดรียโน่ จะเป็นอีกคนที่ยิงได้ 5 ประตู ในเกมที่ชัคตาร์ โดเน็ตส์ค ถล่ม บาเต้ โบริซอฟ ขาดลอย 7-0

7. นักเตะที่ทำแฮตทริกได้มากที่สุด

ลิโอเนล เมสซี่ เป็นนักเตะคนแรกที่ยิงแฮตทริกได้ถึง 8 ครั้ง โดยที่เหยื่อทั้งหมดประกอบไปด้วย อาร์เซน่อล ปี 2010, วิคตอเรีย พัลเซ่น ปี 2011, ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ปี 2012, อาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ปี 2013,  อาโปแอล ในปี 2014, เซลติก ปี 2016, แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ปี 2016 และพีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น ปี 2018 แต่แล้วคริสเตียโน่ โรนัลโด้ ก็ขึ้นมาทาบสถิติด้วยการถล่มอาแจ็กซ์ อัมสเตอร์ดัม ปี 2012, กาลาตาซาราย ในปี 2013, ชัคตาร์ โดเน็ตส์ค ปี 2015, โวล์ฟสบวร์ก ปี 2016, บาร์เยิร์น มิวนิค ปี 2017 และแอตเลติโก มาดริด ปี 2017 และ 2019 ทำให้ทั้งคู่ของครองตำแหน่งร่วมกันในปัจจุบันนี้

ผลกระทบของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากโทษแบนของยูฟ่า

สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า ได้ประกาศบทลงโทษตัดสิทธิ์แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากการแข่งขันทุกรายการที่ยูฟ่าเป็นผู้จัดเป็นเวลา 2 ปี ทำให้ทีมเรือใบสีฟ้าหมดสิทธิ์ลงเล่นในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ฤดูกาลหน้าทันที แม้จะทำอันดับติด 1 ใน 4 ของพรีเมียร์ลีกก็ตาม ทั้งนี้เป็นผลมาจากการกระทำผิดต่อกฎควบคุมการเงิน (Financial Fair Play) ที่ยูฟ่านำมาใช้ตั้งแต่ปี 2010 โดยทางยูฟ่าตรวจสอบพบว่าเงินที่แมนเชสเตอร์ ซิตี้ได้รับจากสายการบินเอติฮัด แอร์เวย์ส สปอนเซอร์รายใหญ่ของสโมสร มีเส้นทางการเงินส่วนใหญ่มาจากชีค มันซูร์ เจ้าของทีมชาวอาหรับ ซึ่งการทุ่มเงินส่วนตัวของบรรดามหาเศรษฐีให้กับสโมสรตัวเอง ทำให้สโมสรเหล่านั้นใช้จ่ายอย่างเกินตัวโดยเฉพาะการซื้อนักเตะ นำมาซึ่งความไม่เป็นธรรมในวงการฟุตบอล ยูฟ่าจึงออกกฎควบคุมการเงินเพื่อบังคับใช้กับทุกสโมสรในยุโรป และเมื่อทีมเรือใบกระทำผิดด้วยการบิดเบือนข้อมูลทางบัญชี จึงนำมาซึ่งการลงโทษดังกล่าว

หลังถูกลงโทษ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แถลงการณ์ไม่ยอมรับคำตัดสินของยูฟ่า และยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาโลกทันที แม้ระหว่างการอุทธรณ์จะทำให้บทลงโทษดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่หากท้ายที่สุดการอุทธรณ์ให้ผลเป็นลบ ย่อมสร้างผลกระทบต่อทีมเรือใบสีฟ้าอย่างมหาศาลในหลายมิติเลยทีเดียว

สูญเสียรายได้มูลค่ามหาศาล

ศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก มีผู้ติดตามรับชมมากกว่า 360 ล้านคนทั่วโลก ผลประโยชน์อันมหาศาลที่ยูฟ่าได้รับถูกนำมาเป็นเงินรางวัลให้กับทุกทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน โดยทีมระดับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ย่อมได้รับการการันตีให้เข้ารอบแบ่งกลุ่มโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะได้รับเงินรางวัลทันที 15.25 ล้านยูโร และหากนัดไหนชนะก็จะได้รับอีก 2.7 ล้านยูโร ส่วนนัดที่เสมอจะได้รับ 9 แสนยูโร แถมหากผ่านเข้ารอบลึก ๆ ก็จะได้เงินรางวัลที่มีมูลค่าสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเงินรางวัลสำหรับแชมป์มีมูลค่าถึง 19 ล้านยูโร แม้แต่รองแชมป์ก็ยังได้รับอยู่ที่ 15 ล้านยูโร ซึ่งรายได้เหล่านี้จะทำให้พวกเขาสามารถนำไปใช้จับจ่ายนักเตะได้อย่างถูกต้องตามกฎควบคุมการเงิน

สูญเสียอันดับในการเป็นทีมวางรอบแบ่งกลุ่ม

ปัจจุบันแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีค่าสัมประสิทธิ์เป็นทีมวางระดับต้น ๆ ของแชมเปียนส์ลีก ทำให้พวกเขาไม่ต้องอยู่ร่วมกลุ่มเดียวกับทีมระดับท็อป แต่การถูกตัดสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันถึง 2 ปี ย่อมส่งผลต่อคะแนนในการจัดอันดับของพวกเขา และอาจทำให้ต้องโคจรไปพบทีมยักษ์ใหญ่ตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการผ่านเข้าสู่รอบน็อคเอาท์ต่อไป

สูญเสียความเชื่อมั่นจากนักเตะและผู้จัดการทีม

แชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ถือเป็นความฝันของนักเตะทุกคน การถูกแบบถึง 2 ปี นอกจากจะส่งผลต่อการตัดสินใจย้ายมาร่วมทีมของนักเตะใหม่แล้ว อาจทำให้บรรดานักเตะซูเปอร์สตาร์ต่างชาติของทีมเลือกที่จะย้ายออกไปหาประสบการณ์ใหม่กับสโมสรที่ได้ลงเล่นในเวทียุโรป ไม่เว้นแม้แต่ตัวเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่ประสบความสำเร็จทุกรายการบนเกาะอังกฤษแล้ว หากไม่มีศึกยุโรปให้นำทัพก็ไม่เหลือความท้าทายใดอีก

น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่าผลลัพธ์จากการอุทธรณ์จะนำพาแมนเชสเตอร์ ซิตี้ไปในทิศทางไหน พวกเขาจะได้กลับไปโลดเล่นในเวทียุโรปอย่างที่ตั้งใจ หรือจะต้องสร้างทีมกันใหม่อีกครั้ง แล้วปล่อยให้ความหวังในการเป็นแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกสมัยแรกต้องลอยห่างออกไป

ฟรานซิสโก้ เกนโต้ เจ้าของแชมป์ยุโรป 6 สมัยแต่เพียงผู้เดียว

ในปัจจุบัน คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ถือเป็นนักเตะที่ครองแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกมากที่สุด จำนวน 5 ครั้ง จากการเล่นให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 1 สมัย และเรอัล มาดริดอีก 4 สมัย แต่หากนับตั้งแต่ยุคบุกเบิกที่เดิมรู้จักกันในชื่อ ยูโรเปียนคัพ “ฟรานซิสโก้ เกนโต้” คือเจ้าของถ้วยแชมป์มากที่สุดในประวัติศาสตร์การแข่งขันชิงแชมป์สโมสรยุโรป

ฟรานซิสโก้ เกนโต้ ย้ายจากราซิ่ง ซานตานเดร์ มาร่วมทีมเรอัล มาดริด เมื่อปี 1953 โดยเป็นผู้เล่นในตำแหน่งปีกซ้ายที่เปี่ยมด้วยเทคนิคการเลี้ยงบอลและการจบสกอร์ที่ยอดเยี่ยม จนกลายเป็นนักเตะตำนานหมายเลข 11 ของราชันชุดขาว ด้วยผลงานการพาสโมสรยักษ์ใหญ่ของสเปนคว้าแชมป์ถึง 23 รายการ ซึ่งรวมไปถึงแชมป์ยูโรเปียนคัพ 6 สมัยด้วย

ในศึกยูโรเปียนคัพครั้งแรกที่จัดขึ้นเมื่อฤดูกาล 1955-56 เรอัล มาดริด เป็น 1 ใน 16 ทีมที่ถูกเชิญเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งทีมราชันชุดขาวที่นำโดยเกนโต้ และอัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ กองหน้าตัวเก่ง ก็สามารถเอาชนะสต๊าด เดอ แร็งส์ ทีมแชมป์จากลีกฝรั่งเศสในรอบชิงชนะเลิศไปอย่างสนุก 4-3 ทั้งที่เป็นฝ่ายตามหลังถึง 2 ประตูตั้งแต่ต้นเกม ทำให้เรอัล มาดริดกลายเป็นแชมป์ยุโรปทีมแรกอย่างเป็นทางการ

ในฤดูกาลถัดมา ซานติอาโก เบอร์นาเบว ถูกเลือกให้เป็นสนามจัดการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศ ซึ่งเรอัล มาดริดสามารถเอาชนะทั้งราปิด เวียนนา, นีซ และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศกับฟิออเรนติน่า โดยแชมป์เก่าโชว์ฟอร์มดุถล่มทีมจากอิตาลีไป 2-0 ในสนามเหย้าของตัวเอง และป้องกันแชมป์ได้สำเร็จ

ในศึกยูโรเปียนคัพครั้งที่ 3 แม้เรอัล มาดริดจะเพิ่มเปลี่ยนผู้จัดการทีม แต่นักเตะชุดเดิมก็สามารถรักษาฟอร์มทะลุเข้าชิงชนะเลิศได้อีกครั้ง โดยมีเอซี มิลานเป็นด่านสุดท้าย  ยอดทีมจากอิตาลีทำประตูขึ้นนำได้ก่อน แต่แชมป์เก่าก็ตามตีเสมอได้ทั้ง 2 ครั้ง ทำให้เสมอกันไป 2-2 จนต้องต่อเวลาพิเศษออกไป 30 นาที แล้วก็เป็นเกนโต้ที่ยิงประตูชัยในนาทีที่ 107 ช่วยให้ทีมชุดขาวเป็นคว้าแชมป์ 3 สมัยติดต่อกัน

ปีต่อมาเกนโต้ และดิ สเตฟานโน่ ก็พาทีมเข้าชิงชนะเลิศเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการรีแมตช์นัดชิงกับสต๊าด เดอ แร็งส์ ที่มีดาวซัลโวฟุตบอลโลก 1958 อย่างชุสต์ ฟงแตน เป็นกองหน้าคนสำคัญ โดยทีมราชันชุดขาวเป็นฝ่ายย้ำแค้นไปได้จากลูกยิงของมาเตออส และดิ สเตฟาโน่ ทำให้พวกเขาครองแชมป์ยุโรปอีกสมัย

ฤดูกาล 1959-60 เรอัล มาดริดเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมอีกครั้ง โดยได้ มิเกล มูนญอซ อดีตกัปตันทีมชุดแชมป์ยุโรปสมัยแรกมาเป็นกุนซือ รวมทั้งได้ เฟเรนซ์ ปุสกัส มาเสริมทัพ และด้วยประสบการณ์อันโชกโชนของนักเตะและผู้จัดการทีม ราชันชุดขาวจึงถล่มไอน์ทรัค แฟร้งค์เฟิร์ตไปถึง 7-3 จากการทำแฮตทริกของ 2 ดาวยิงอย่างดิ สเตฟาโน่ และปุสกัส ทำให้เรอัล มาดริดกลายเป็นแชมป์ยุโรป 5 สมัยติดต่อกันทีมแรกและทีมเดียวจนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้นเรอัล มาดริดมีโอกาสเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศอีก 2 ครั้ง แต่ก็พ่ายให้กับเบนฟิก้า และอินเตอร์ มิลาน

จนกระทั้งฤดูกาล 1965-66 เกนโต้ในบทบาทกัปตันทีมได้โอกาสลงเล่นนัดชิงอีกครั้ง แม้สองกองหน้าตัวเก่งอย่างดิ สเตฟาโน่ และปุสกัส จะอำลาทีมไปแล้ว แต่ก็ได้ อมานซิโอ อมาโร่ และเฟอร์นานโด เซเรน่า ช่วยกันยิงให้ทีมพลิกกลับมาชนะปาร์ติซาน เบลเกรดได้สำเร็จ โดยนักเตะทีมแชมป์ครั้งนี้มีแค่เกนโต้ที่หลงเหลือมาจากชุดแชมป์สมัยแรกเมื่อปี 1956 ทำให้เขากลายเป็นนักเตะเพียงคนเดียวที่คว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพ 6 สมัย

เกนโต้ ยิงประตูให้ราชันชุดขาวในศึกยูโรเปียนคัพไปถึง 30 ประตู จากการลงสนาม 89 นัด จนกระทั้งในปี 1971 เขาจึงตัดสินใจแขวนสตั๊ดในวัย 37 ปี นับเป็นการปิดตำนานยอดนักเตะที่ยิ่งใหญ่แห่งยูโรเปียนคัพ

คำสาปของกัตต์มันส์ หายนะ 100 ปีแห่งความว่างเปล่าในเวทียุโรปของเบนฟิก้า

ในยุคเริ่มต้นของศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ตั้งแต่ที่การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปยังเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ยูโรเปียนคัพ” เรอัล มาดริด ทีมยักษ์ใหญ่แห่งสเปนครองความยิ่งใหญ่ในยุโรปด้วยการคว้าแชมป์ 5 สมัยติดต่อกัน ก่อนที่ เบนฟิก้า จะก้าวขึ้นมาเทียบรอยเท้าด้วยการคว้าแชมป์ได้ถึง 2 สมัยติดต่อกัน แต่แล้วยอดทีมจากโปรตุเกสก็ต้องหยุดความสำเร็จไว้เพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นที่โจษจันกันว่าเป็นเพราะ “คำสาปของกัตต์มันส์”

เบนฟิก้า ถือเป็นสโมสรหมายเลขหนึ่งของลีกโปรตุเกส ด้วยการคว้าแชมป์พรีเมียรา ลิก้า 37 สมัย แถมยังเป็นทีมแรกของโปรตุเกสที่ก้าวขึ้นไปเป็นเจ้ายุโรปได้สำเร็จในช่วงต้นยุค 60 จากผลงานการคุมทีมของ “เบล่า กัตต์มันส์” โดยกุนซือชาวออสเตรียนำทัพเหยี่ยวแห่งลิสบอนผงาดครองแชมป์ยูโรเปียนคัพ 2 สมัยซ้อน แถมยังเป็นการล้มยักษ์ใหญ่แห่งสเปนในรอบชิงชนะเลิศได้ทั้งสองครั้งสองครา จากการเอาชนะบาร์เซโลน่า 3-2 ในปี 1961 และชนะเรอัล มาดริด 5-3 ในปี 1692

การพาทีมเป็นแชมป์ยุโรป 2 สมัย แถมยังสามารถเอาชนะทีมของเฟเรนซ์ ปุสกัส นักเตะที่ได้ชื่อว่าเก่งที่สุดในโลกเวลานั้น ทำให้กัตต์มันส์หาญกล้าเข้าไปคุยกับบอร์ดบริหารสโมสรเพื่อขอเพิ่มค่าจ้างให้กับตัวเองและเงินงบประมาณในการทำทีมเพิ่มเติม แต่สิ่งที่เขาได้รับคือคำปฏิเสธจากอันโตนิโอ คาร์ลอส ประธานสโมสร เนื่องจากเห็นว่าเบนฟิก้าเป็นทีมที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว โดยมี ยูเซบิโอ เป็นศูนย์กลางของทีม ในขณะที่ค่าจ้างของกัตต์มันส์ก็มีความเหมาะสมเช่นกัน ภายหลังถูกปฏิเสธกุนซือเลือดร้อนก็ได้ลาออกจากสโมสรทันที พร้อมกับลั่นวาจาไว้ว่า “นับจากนี้ไป 100 ปี เบนฟิก้าจะไม่มีวันได้แชมป์ยุโรปอีก”

เดิมทีไม่มีใครในสโมสรที่สนใจต่อคำสาปแช่งของกัตต์มันส์เลย ในเมื่อทีมยังมียอดนักเตะอย่างยูเซบิโออยู่ แต่แล้วเมื่อทีมแชมป์เก่าพ่ายให้กับเอซี มิลาน ในรอบชิงชนะเลิศปี 1963 จึงเกิดเป็นเสียงร่ำลือขึ้น ยิ่งเมื่อเหยี่ยวลิสบอนแพ้ให้กับอินเตอร์ มิลาน ในรอบชิงชนะเลิศปี 1965 และแพ้ให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในนัดชิงปี 1968 ก็สร้างความกลัวต่อคำสาปแช่งนั้นให้ชัดเจนขึ้น

หลังจากผ่านไป 20 ปี เบนฟิก้าก็ได้โอกาสกลับสู่รอบชิงชนะเลิศยูโรเปียนคัพ อีกครั้งในปี 1988 แต่ก็ต้องมาแพ้ พีเอสวี ไอนด์โฮเฟ่น ในการดวลจุดโทษตัดสิน แถมอีก 2 ปีถัดมาก็ยังพ่ายให้กับเอซี มิลาน ในรอบชิงชนะเลิศเป็นหนที่สองอีกด้วย ส่งผลให้นับแต่ที่กัตต์มันส์จากไปพร้อมกับคำสาปแช่ง เบนฟิก้าสามารถเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้ 5 ครั้ง แต่ก็ต้องพลาดแชมป์ทุกครั้งไป แถมเมื่อยูโรเปียน คัพ ปรับปรุงรูปแบบการแข่งขันและเปลี่ยนชื่อมาเป็นยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก ตั้งแต่ปี 1993 เหยี่ยวจากโปรตุเกสยังไม่อาจบินสูงขึ้นถึงรอบชิงชนะเลิศได้เลย รวมไปถึงบอลยุโรปถ้วยรองอย่างยูฟ่าคัพหรือยูโรป้าลีก พวกเขาก็เป็นได้แค่รองแชมป์ทั้ง 3 สมัย

เชื่อกันว่าด้วยความเป็นคนหัวแข็ง ยอมหักไม่ยอมงอของกัตต์มันส์ ทำให้คำสาปของเขายังคงความขลังอยู่มาจนถึงปัจจุบัน  แม้ตำนานนักเตะและศิษย์ก้นกุฏิอย่างยูเซบิโอจะเดินทางไปขอขมาต่อหน้าหลุมศพที่กรุงเวียนนา ก่อนเกมที่เบนฟิกา จะพบกับเอซี มิลาน เมื่อปี 1990 ก็ยังไม่อาจถอนคำสาปนั้นได้

โรนัลโด้กับแชมเปียนส์ลีก เส้นทางที่ไม่เคยบรรจบกัน

ในสมัยที่ยังโลดแล่นอยู่บนสนามหญ้า “โรนัลโด้” ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์หน้าหมายเลขหนึ่งของโลก โดยมีรางวัลทั้งในระดับสโมสรและทีมชาติเป็นเครื่องการันตี ไม่ว่าจะเป็นดาวซัลโวประจำทวีปยุโรป ในปี 1997 จากผลงาน 34 ประตู สมัยค้าแข้งอยู่กับบาร์เซโลน่า และดาวซัลโวฟุตบอลโลก 2002 กับทีมชาติบราซิล แม้ดาวยิงแซมบ้าพาต้นสังกัดกวาดแชมป์มากมายทั้งบอลลีกและบอลถ้วย รวมถึงการเป็นแชมป์ยุโรปทั้งยูฟ่าคัพ และคัพวินเนอร์คัพ แต่สำหรับแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก เขากลับไม่เคยได้สัมผัสมันสักครั้ง ทั้งที่เล่นให้กับสโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรปหลายต่อหลายทีม

หลังเป็นส่วนหนึ่งในทีมชาติบราซิลชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 1994 โรนัลโด้ ได้ตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตค้าแข้งในทวีปยุโรปกับ พีเอสวี ไอนด์โฮเฟน ด้วยวัยเพียง 17 ปี ในฤดูกาลแรกเขาก็ฉายแววศูนย์หน้าระดับโลกทันทีด้วยการยิง 30 ประตู กลายเป็นดาวซัลโวลีกเนเธอร์แลนด์ จนฟอร์มไปเข้าตาทีมใหญ่ของยุโรปอย่างบาร์เซโลน่า ที่คว้าตัวไปร่วมทีมในปี 1996 ด้วยค่าตัว 19.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นสถิติโลกในเวลานั้น เพียงปีเดียวเขาก็กลายเป็นดาวซัลโวของลาลีกา จาก 34 ประตู ใน 37 เกม ก่อนจะพาบาร์ซ่าเป็นแชมป์บอลถ้วยของสเปน 2 รายการ และปิดท้ายด้วยแชมป์คัพวินเนอร์คัพ ซึ่งโรนัลโด้เป็นผู้ยิงประตูชัยนัดชิง

ในฤดูกาล 1997-98 โรนัลโด้ย้ายทีมด้วยการทำลายสถิติโลกอีกครั้ง เมื่ออินเตอร์ มิลานทุ่มเงินถึง 27 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นค่าตัวของเขา เพียงฤดูกาลแรกเขาก็พาทีมเป็นแชมป์ยูฟ่าคัพ โดยเป็นผู้ยิงประตูปิดท้ายช่วยให้ทีมงูใหญ่เอาชนะลาซิโอในรอบชิงชนะเลิศด้วยสกอร์ 3-0 ในฤดูกาลต่อมาโรนัลโด้ก็ได้โอกาสลงเล่นในศึกแชมเปียนส์ลีกเป็นครั้งแรก และพาทีมเข้าสู่รอบน็อกเอาท์ได้สำเร็จ ก่อนจะพ่ายให้กับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในรอบ 16 ทีมสุดท้าย

โรนัลโด้ ย้ายกลับลาลีก้าอีกครั้งในปี 2002 เพื่อเป็นหนึ่งในขุนพลกาแลคติกอสของเรอัล มาดริด ร่วมกับ ซีเนดีน ซีดาน และหลุยส์ ฟิโก้ โดยขณะนั้นราชันชุดขาวผูกขาดเป็นแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกแบบปีเว้นปี มาถึง 3 ครั้งติดต่อกัน ทำให้เขามีความหวังในการเป็นแชมป์ถ้วยใบใหญ่ของยุโรปสักหน แต่หลังจากซูเปอร์สตาร์แซมบ้าย้ายมาร่วมทีม เรอัล มาดริดกลับไม่เคยทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้แม้แต่ครั้งเดียว

ช่วงกลางซีซั่น 2006-07 โรนัลโด้ย้ายกลับอิตาลีอีกรอบเพื่อเล่นให้กับเอซี มิลาน ในท้ายฤดูกาลปีศาจแดงดำเอาชนะลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกอย่างยิ่งใหญ่ แต่โรนัลโด้กลับไม่มีส่วนในความสำเร็จนั้น เนื่องจากติด คัพ-ไทด์ จากการลงเล่นในกับมาดริดมาก่อนช่วงต้นซีซั่น แถมฤดูกาลต่อมาดาวยิงบราซิเลี่ยนต้องประสบปัญหาอาการบาดเจ็บอย่างหนักจนไม่สามารถลงเล่นได้อีก และถูกปล่อยออกจากทีมไปเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง

แม้จะเป็นนักเตะที่ดีที่สุดในโลก ด้วยการคว้ารางวัลบัลลงดอร์ถึง 2 สมัย แต่โรนัลโด้กลับโชคร้ายในการเลือกทีมผิดเวลาถึงสองครั้งสองครา ครั้งแรกคือการเลือกย้ายมาร่วมทีมรวมดาราโลกอย่างเรอัล มาดริดในช่วงขาลง และอีกครั้งในการเลือกย้ายมาร่วมทีมเอซี มิลานช้าไปครึ่งฤดูกาล ทำให้เขาพลาดการคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกเป็นหนึ่งในรางวัลเกียรติยศให้กับตัวเอง

อาถรรพ์นัดชิง…เมื่อชาติเดียวกันต้องมาดวลกันเอง

เสน่ห์อย่างหนึ่งของนัดชิงชนะเลิศศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนลีก นั้นคือ ถึงแม้จะถูกมองเป็นทีมที่ด้อยกว่า หรืออาจจะมีประสบการณ์ในการเข้าชิงที่น้อยกว่า แต่เมื่อลงสนามแล้วทีมเหล่านั้นก็พร้อมจะกลายเป็นแจ็คผู้ฆ่ายักษ์เสมอ หลายต่อหลายครั้งแฟนบอลจึงได้เห็นทีมที่มีขุมกำลังและฟอร์มการเล่นที่เหนือกว่าต้องเป็นฝ่ายน้ำตาตกหลังจบเกมแข่งขันเสียเอง แต่ทั้งนี้ไม่ใช่กับนัดชิงชนะเลิศของสองสโมสรที่มาจากชาติเดียวกัน เพราะตามสถิติแล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่สโมสรจากประเทศเดียวกันเข้าชิงชนะเลิศกันเอง ทีมที่เคยคว้าแชมป์มากกว่าจะเป็นฝ่ายเก็บถ้วยแชมป์เพิ่มได้ในที่สุด และนี่คือเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในนัดชิงชนะเลิศของสโมสรชาติเดียวกัน

ปี 2000 : เรอัล มาดริด กับ บาเลนเซีย

หลังก้าวเข้าสู่ยุคมิลเลนเนี่ยม ทีมสัญชาติสเปนก็กลายเป็นสองสโมสรจากประเทศเดียวกันที่ได้ลงเล่นในนัดชิงชนะเลิศเป็นครั้งแรก โดยเวลานั้นเรอัล มาดริดเป็นแชมป์มาแล้ว 7 สมัย ในขณะที่บาเลนเซียต้องการเป็นแชมป์สมัยแรกให้ได้ แต่สุดท้ายทีมราชันชุดขาวที่เลือกใส่ชุดดำในนัดนี้ก็เป็นฝ่ายถล่มเพื่อนร่วมชาติไปถึง 3-0 จากประตูของเฟอร์นานโด มอริเอนเตส, สตีฟ แม็คมานามาน และราอูล กอนซาเลส กลายเป็นแชมป์สมัยที่ 8

ปี 2003 : ยูเวนตุส กับ เอซี มิลาน

หลังจากนั้นสโมสรจากอิตาลีก็เป็นฝ่ายดวลกันเองในรอบชิงชนะเลิศบ้าง โดยเป็นการพบกันระหว่างยูเวนตุส เจ้าของแชมป์ 2 สมัย กับเอซี มิลาน อดีตแชมป์ 5 สมัย ซึ่งก่อนลงสนามทั้งสองทีมมีดีกรีแชมป์จากอิตาลีทั้งคู่ ทีมม้าลายเป็นแชมป์ลีก ในขณะที่ทีมปีศาจแดง-ดำเป็นแชมป์บอลถ้วย เกมการแข่งขันเป็นไปด้วยความสูสี มิลานเกือบขึ้นนำเมื่ออังเดร เชฟเชนโก้ส่งบอลสู่ก้นตาข่ายได้ แต่มีจังหวะล้ำหน้าเสียก่อน หลังจากนั้นทั้งคู่ไม่สามารถทำประตูกันได้จนต้องยิงจุดโทษตัดสินแชมป์ แล้วก็เป็นเชฟเชนโก้ ที่ยิงเข้าไปเป็นคนสุดท้ายช่วยให้เอซี มิลาน ที่เคยเป็นแชมป์มากกว่า เก็บแชมป์เพิ่มได้อีกสมัย

2008 : แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กับ เชลซี

ถัดจากนั้นมาสองทีมจากอังกฤษก็ทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศได้บ้าง โดยเป็นการพบกับของสองทีมที่เพิ่งขับเคี่ยวแย่งแชมป์พรีเมียร์ลีกกันมาอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่เคยคว้าแชมป์รายการนี้ 2 สมัย กับเชลซี ที่ยังไม่เคยสัมผัสแชมป์มาก่อน โดยปีศาจแดงได้ประตูออกนำไปก่อนจากลูกโหม่งของคริสเตียโน่ โรนัลโด้ ก่อนที่แฟรงค์ แลมพาร์ด จะมายิงตีเสมอก่อนจบครึ่งแรก หลังจากนั้นทั้งสองทีมทำประตูเพิ่มไม่ได้จึงต้องยิงจุดโทษหาผู้ชนะ ปีศาจแดงเป็นฝ่ายยิงก่อน ซึ่งโรนัลโด้เป็นคนเดียวที่ยิงพลาด เชลซีมีโอกาสชนะในการยิงจุดโทษลูกสุดท้ายของจอห์น เทอร์รี่ แต่แล้วอาถรรพ์ก็ทำงานเมื่อกัปตันสิงห์บลูลื้นระหว่างยิงจนบอลไปชนเสาอย่างจัง ก่อนที่นิโคลาร์ อเนลก้า จะยิงไปติดเซฟของเอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ พลาดการเป็นแชมป์สมัยแรกอย่างน่าเจ็บใจ

2013 : บาร์เยิร์น มิวนิค กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์

และแล้วนัดชิงชนะเลิศก็เป็นทีของสองทีมจากเยอรมันโคจรมาพบกันเองบ้าง โดยบาร์เยิร์น มิวนิค แชมป์ 4 สมัย ได้โอกาสดวลกับโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ แชมป์ 1 สมัย เกมมาเข้มข้นในครึ่งหลังเมื่อ มาริโอ มานด์ซูคิซ ยิงให้ทีมเสือใต้ออกนำไปก่อนในนาทีที่ 60 แต่หลังจากนั้น 8 นาที อิคาย กุนโดกัน ก็ตามตีเสมอได้จากจุดโทษ ก่อนที่ อาร์เยน ร็อบเบน จะมายิงประตูชัยให้ทีมเสือใต้ก่อนหมดเวลานาทีเดียว ทำให้อาถรรพ์ยังดำเนินต่อไป

2014 : รีล มาดริด กับ แอตเลติโก มาดริด

ในปี 2014 ทีมจากสเปนก็ได้ชิงกันเองอีกครั้ง โดยครั้งนี้ยังคงเป็นเรอัล มาดริด เจ้าเดิมที่พกดีกรีแชมป์ 9 สมัย แต่คู่แข่งเปลี่ยนมาเป็นทีมร่วมเมืองอย่าง แอตเลติโก มาดริด ที่ยังไม่เคยคว้าแชมป์มาก่อน นับเป็นดาบี้แมตช์นัดชิงชนะเลิศครั้งแรกของยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกด้วย โดยก่อนลงสนามทีมตราหมีเพิ่งจะคว้าแชมป์ลาลีลาสเปนมาอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งเมื่อเริ่มเกมไปได้ 36 นาที ดีเอโก โกดิน ก็โหม่งให้ทีมตราหมีขึ้นนำ เกมทำท่าว่าจะจบด้วยชัยชนะของทีมที่คว้าแชมป์น้อยกว่าอยู่แล้ว แต่หลังจากทดเวลาบาดเจ็บไปได้ 3 นาที เซร์คิโอ รามอส ก็โหม่งตีเสมอให้ทีมราชันได้ลุ้นต่อในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ก่อนที่แกเร็ธ เบล, มาร์เซโล และคริสเตียโน่ โรนัลโด้ จะช่วยกันยิงให้ทีมมาดริดมุมสีขาวคว้าแชมป์โดยไม่ต้องดวลจุดโทษ

2016 : รีล มาดริด กับ แอตเลติโก มาดริด

คล้อยหลังมา 2 ปี ดาร์บี้แมตช์นัดชิงชนะเลิศก็กลับมาจัดนัดล้างตากันอีกครั้ง โดยครั้งนี้เรอัล มาดริดเป็นฝ่ายออกนำไปก่อนจากรามอส ทั้งที่อยู่ในตำแหน่งล้ำหน้า แอตเลติโกมาได้ลูกจุดโทษในช่วงต้นครึ่งหลัง แต่อองตวน กรีซมัน ยิงไปชนคานกระเด้งออกมา หลังจากนั้นทีมตราหมีโหมบุกอย่างหนักและได้ลูกยิงตีเสมอจากยานนิค การ์ราสโก จนต้องต่อเวลาพิเศษแล้วยิงจุดโทษตัดสิน เรอัล มาดริดยิงได้แม่นกว่าจึงคว้าแชมป์ไปในที่สุด

2019 : ลิเวอร์พูล กับ ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์

จนกระทั้งครั้งล่าสุด ทีมจากอังกฤษทะลุมาเจอกันในรอบชิงอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการพบกันระหว่างลิเวอร์พูล แชมป์ 5 สมัย กับสเปอร์ที่ผ่านเข้าสู่รอบชิงเป็นครั้งแรก แม้ลิเวอร์พูลจะมีขุมกำลังที่เหนือกว่า แต่กูรูหลายสำนักกลับไม่ฟันธงให้ลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ เนื่องจากอาถรรพ์ของเจอร์เก้น คล็อปป์ ที่นำทีมแพ้นัดชิงชนะเลิศถึง 6 ครั้งติดต่อกัน แต่แล้วเมื่อเกมเริ่มต้นขึ้นลูกทีมของคล็อปป์ก็ออกนำตั้งแต่นาทีที่ 2 ก่อนจะบวกได้อีกประตูก่อนหมดเวลา ช่วยให้หงส์แดงคว้าแชมป์สมัยที่ 6 และแสดงให้โลกเห็นว่าอาถรรพ์นัดชิงจากชาติเดียวกันรุนแรงกว่าอาถรรพ์อื่นทุกเรื่อง

บททดสอบฝีมือของซีเนดีน ซีดาน บนความล้มเหลวของเรอัล มาดริด

ความพ่ายแพ้ของ เรอัล มาดริด ในบ้านตัวเองให้กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยสกอร์ 1-2 ในศึกยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก2019-20 รอบ 16 ทีมสุดท้าย ทำให้มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ทีมราชันชุดขาวจะจอดตั้งแต่รอบน็อกเอาท์แรกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากเมื่อฤดูกาลที่แล้วพวกเขาก็ถูกเขี่ยตกรอบนี้ด้วยน้ำมือ อาแจกซ์ อัมสเตอร์ดัม อย่างพลิกความคาดหมาย ทั้งที่เมื่อฤดูกาลก่อนหน้านั้น เรอัล มาดริด คือทีมแรกในปะวัติศาสตร์ที่สามารถคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก 3 สมัยติดต่อกัน

ในเกมดังกล่าว เรอัล มาดริดสามารถออกนำได้ก่อนจากการฉกฉวยความผิดพลาดของแนวรับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ วินิซิอุส จูเนียร์ จ่ายบอลเข้ากลางให้ อิสโก้ ยิงโล่ง ๆ เข้าประตูไปในนาทีที่ 60 แต่เมื่อเป็นฝ่ายตามหลังทีมเยือนก็โหมบุกจนมาได้ประตูตีไข่แตกจากความยอดเยี่ยมของเควิน เดอ บรอยน์ ที่เลี้ยงฝ่าแนวรับเจ้าบ้านในกรอบเขตโทษถึง 4 คน ก่อนจะบรรจงเปิดให้ กาเบรียล เฆซุส โหม่งทำประตูในนาทีที่ 78 หลังจากนั้น 5 นาทีเพลย์เมกเกอร์ทีมชาติเบลเยี่ยมก็เป็นคนสังหารจุดโทษช่วยให้ทีมเรือใบสีฟ้าเก็บชัยชนะในเลกแรกไปได้ก่อน แถมช่วงท้ายเกม เซร์คิโอ รามอส ยังมาโดนใบแดงไล่ออกจากสนาม ยิ่งทำให้สถานการณ์ของราชันชุดขาวเลวร้ายลงไปอีก เพราะนอกจากจะเสียอเวย์โกล์ไปถึง 2 ประตู ยังต้องมาเสียกองหลังคนสำคัญในนัดหน้าอีกด้วย ทำให้หนทางการผ่านเข้ารอบต่อไปยิ่งมืดมนเข้าไปใหญ่

ในการกลับมาคุมทีมอีกครั้งของซีเนดีน ซีดาน กุนซือเมืองน้ำหอมต้องประสบปัญหาอย่างหนักในเรื่องการจบสกอร์ เมื่อขาดเครื่องจักรผลิตประตูอย่างคริสเตียโน่ โรนัลโด้ เนื่องจากกัปตันทีมชาติโปรตุเกสถือเป็นนักเตะที่แบกทีมในเรื่องการทำประตูมาแต่ไหนแต่ไร เขาถล่มไปถึง 43 ประตูตลอด 3 ฤดูกาลที่ช่วยให้ทีมครองแชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก 3 สมัยติดต่อกัน โดยปัจจุบันคาริม เบนเซม่า ศูนย์หน้าตัวหลักของทีมที่เพิ่งลงเล่นเกมยุโรปให้กับทีมครบ 100 นัดในเกมล่าสุด เพิ่งจะยิงให้กับทีมในซีซั่นนี้ไปได้แค่ 4 ประตู แถมเอเด็น อาซาร์ นักเตะที่ทีมหวังให้เป็นตัวตายตัวแทนจนทุ่มทุนสูงถึง 150 ล้านปอนด์ กลับใช้เวลาไปกับการรักษาตัวมากกว่าการลงสนาม นอกจากนั้นเหล่าแนวรุกดาวรุ่งที่ทุ่มซื้อมาร่วมทีมด้วยมูลค่ามหาศาลทั้งลูก้า โยวิช และโรดรีโก้ กลับไม่อาจก้าวขึ้นมาเป็นกำลังหลักของทีมได้เลยสักคน จนต้องกลับไปพึ่งแกเร็ธ เบล ที่เหมือนจะหมดอนาคตกลับทีมไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งผลงานของปีกทีมชาติเวลล์ก็ไม่ต่างจากคนอื่นสักเท่าไหร่

การแข่งขันนัดต่อไปถือเป็นงานท้าทายครั้งใหญ่ของซีเนดีน ซีดาน ในการพาทีมราชันชุดขาวที่เน้นความสามารถเฉพาะตัวตามสไตล์ทีมรวมดารา เข้าต่อกรกับลูกทีมของเป๊ป กวาร์ดิโอล่า ที่เน้นการครองบอลและใช้ทีมเวิร์คในการเข้าทำประตู ซึ่งถือเป็นบททดสอบพิสูจน์ฝีมือของเทรนเนอร์ชาวฝรั่งเศสอีกครั้งว่าแชมป์ทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นผลจากมันสมองของเขา หรือจากฝีเท้าของโรนัลโด้เป็นสำคัญ ซึ่งหากเรอัล มาดริดยังล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง เราคงได้เห็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในถิ่นซานติอาโก้ เบอร์นาเบวแน่นอน